ผื่นคัน ผื่นแพ้ไรฝุ่น อาการจากสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้าน

สารก่อภูมิแพ้อยู่ภายในบ้าน (Indoor allergens) ที่พบบ่อยได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ที่มาจากสัตว์เลี้ยง (pet allergen) ไรฝุ่น (dust allergen) และ เชื้อรา (mold allergen) ทำให้ผู้ป่วยที่แพ้ฝุ่น แพ้ขนสัตว์เลี้ยง ซึ่งไวต่อสารเหล่านี้มีอาการกำเริบได้ตลอดทั้งปี บทความนี้จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ในบ้านมากขึ้น เพื่อที่จะหาทางป้องกันและรักษาอาการโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา ผื่นคันจากการแพ้ฝุ่น รวมถึงอาการลมพิษจากการแพ้ขนแมว แพ้ขนสุนัข หรือขนสัตว์อื่น ๆ 

โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงภายในบ้านเป็นสาเหตุของภูมิแพ้กำเริบได้ แต่แท้จริงแล้วอาการแพ้ขนสัตว์ไม่ได้มีสาเหตุมาจากขนของสัตว์โดยตรง แต่เกิดจากอนุภาคโปรตีนของสะเก็ดผิวหนัง น้ำลาย หรือปัสสาวะ ที่ติดอยู่บนขนของสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นบริเวณที่คนสัมผัสบ่อย โดยอนุภาคโปรตีนดังกล่าวยังมีน้ำหนักเบา จึงสามารถเคลื่อนที่ผ่านอากาศ และตกลงบริเวณเสื้อผ้า และเส้นผม เมื่อสัมผัสจึงเกิดอาหารแพ้ขนสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นแพ้ขนแมว หรือแพ้ขนสุนัข โดยมักจะมีอาการคัน หรือลมพิษ เมื่อสัมผัส

รู้หรือไม่?

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคภูมิแพ้จากสัตว์เลี้ยงมาจากสะเก็ดผิวหนังของสุนัขหรือแมวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม แต่แท้จริงแล้ว สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ที่เป็นต้นเหตุของภูมิแพ้เกิดได้จากสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น หนูแฮมสเตอร์ กระต่าย  หนูตะเภา รวมถึงสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากแพ้ขนสัตว์

  • จัดแบ่งบริเวณปลอดสัตว์เลี้ยง โดยการนำสัตว์เลี้ยงออกจากห้องนอน และห้องอื่น ๆ ภายในบ้าน
  • ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงบ่อย ๆ เนื่องจากการอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำสามารถลดจำนวนสารก่อภูมิแพ้ที่ติดอยู่บนขนสัตว์ได้
  • หลีกเยลี่งการสัมผัสดวงตา จมูก และปาก ภายหลังจากการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง 
  • เตรียมตัวล่วงหน้าหากจะมีการนำสัตว์เลี้ยงที่มีขนเข้ามาในบริเวณบ้าน เช่น การเตรียมยาแก้แพ้ของคุณไว้ให้พร้อม!

โรคภูมิแพ้ไรฝุ่น

สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ภายในบ้าน คือ ไรฝุ่น สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเหล่านี้อาศัยอยู่ตามเซลล์ของผิวหนังที่ตายแล้วและหลบซ่อนอยู่ตามอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวเรือนที่ทำมาจากผ้า เช่น หมอน ที่นอน เฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากผ้า ผ้าห่ม และ พรม ไรฝุ่นชอบอากาศที่มีความชื้นสูง จึงสามารถพบไรฝุ่นได้ชุกชุมในบ้านส่วนที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อนจนถึงฤดูฝนของประเทศไทย ทำให้มีอาการผื่นคัน หรือผื่นแพ้ไรฝุ่นได้ 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น

  • ลดปริมาณไรฝุ่นด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อป้องกันผื่นคันจากการแพ้ฝุ่น
    • ทำความสะอาดเครื่องนอนและผ้าห่มในน้ำร้อนอย่างน้อย 54 องศาเซลเซียส อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 
    • เครื่องดูดฝุ่นที่ใช้ควรติดตั้งด้วย HEPA filter หรือ double vacuum bag 
    • ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีฝุ่นด้วยการใช้ฟองน้ำชุบหมาด ๆ และถูพื้นบ้านเป็นประจำ ช่วยป้องกันอาการแพ้ไรฝุ่นกำเริบ
    • ควรสวมผ้าปิดปากและถุงมือในขณะที่ทำความสะอาด เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้จากฝุ่น
  • ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ : เหงื่อของมนุษย์สามารถทำให้หมอน ที่นอน และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจาก rubber foam เกิดเชื้อราขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบฉลากของที่นอน และผ้าคลุมเตียงนอนเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในการดูแลรักษาสินค้าให้มีประสิทธิภาพก่อนการใช้งาน
  • เลือกใช้ที่นอนและปลอกหมอนที่มีคุณสมบัติต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ 
  • ไม่ควรติดตั้งพรมหรือวัสดุที่คล้ายคลึงบนผนังห้อง เนื่องจากจะทำให้เกิดการสะสมของไรฝุ่น
  • ควบคุมความชื้นภายในบ้าน (หากสามารถทำได้) โดยระดับความชื้นที่แนะนำควรน้อยกว่า 50% 

โรคภูมิแพ้จากเชื้อรา

เชื้อราภายในบ้านสามารถสร้างสปอร์ได้ตลอดทั้งปี และพบได้บ่อยในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องใต้ดิน ห้องน้ำ ห้องสำหรับซักล้าง ห้องใต้หลังคา ตู้เย็น และขอบหน้าต่าง โรคภูมิแพ้จากเชื้อราสามารถพบได้บ่อยโดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา

  • การทำความสะอาดบ้าน 
    • ทำความสะอาดห้องน้ำและห้องซักล้างอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา
    • หลีกเลี่ยงการปล่อยค้างเสื้อผ้าที่แห้งแบบหมาด ๆ ไว้ในเครื่องซักผ้าเป็นเวลานาน เนื่องจากจะทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อราบนเสื้อผ้าและเครื่องซักผ้าได้
    • ทำความสะอาดม่านห้องน้ำและแผ่นกระเบื้องห้องน้ำด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่กำจัดเชื้อรา
    • เลือกใช้พรมเช็ดเท้าที่สามารถซักได้ 
  • การควบคุมระดับความชื้น
    • ควบคุมระดับความชื้นภายในบ้านให้น้อยกว่า 50% โดยใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องดูดความชื้น
    • ใช้พัดลมดูดอากาศภายในห้องครัวหรือห้องน้ำ เพื่อลดไอน้ำในห้องครัว และความชื้นในห้องน้ำ 
  • การดูแลความสะอาดภายในตู้เย็น
    • ทำความสะอาดตู้เย็นและเทน้ำภายในถาดรองออกอย่างสม่ำเสมอ
    • กำจัดสิ่งของเน่าเสียหรืออาหารที่หมดอายุเพื่อลดการเจริญเติบโตของเชื้อรา
  • ควรเปิดผ้าม่านหรือมู่ลี่ภายในบ้าน เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อราภายในบ้าน ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา